งานวิจัยไบโอเทคกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (Biotechnology Research)

งานวิจัยไบโอเทคกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (Biotechnology Research)

งานวิจัยด้านไบโอเทค (Biotechnology Research) มีความสำคัญอย่างไรต่ออุตสาหกรรมความงามและเครื่องสำอาง

ในหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมความงามสูงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมความงามจะมีมูลค่าสูงถึง 2.8 แสนล้านในปี 2561 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดความงามอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก และถือเป็นอันดับที่ 1 ในภูมิภาคอาเซียน แต่ในการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ยังคงมีปัญหาภายในที่ยังคงถูกมองข้าม ซึ่งในระยะยาวอุตสาหกรรมความงามของประเทศไทย ยังคงมีช่องว่างในการพัฒนาอีกอย่างมากเช่นกัน ปัญหาในอุตสาหกรรมความงามประเทศไทย (Cosmetic Industry Problems) ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแบ่งออกมาได้เป็น 2 ส่วนคือ 1. ปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องสำอางผ่านคนกลาง 2. ปัญหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า สำหรับบทความนี้ผมจะเริ่มจากการเล่าปัญหาแรกที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้วัตถุดิบในประเทศโดยตรง  

ปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องสำอางผ่านคนกลาง

โดยโครงสร้างของการผลิตเครื่องสำอางจะมีองค์ประกอบดังนี้คือ 1. เบสหรือสารก่อเนื้อ (Base) 2. สารออกฤทธิ์ให้เกิดผลลัพธ์ (Active Ingredients) 3. สี (Colorants) 4. น้ำหอม (Perfume) 5. สารกันเสีย (Preservatives) ซึ่งในปัจจุบันยังมีผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศไทยเพียงจำนวนน้อยราย เมื่อเทียบกับปริมานความต้องการวัตถุดิบเครื่องสำอางและจำนวนผู้ผลิตเครื่องสำอาง ทำให้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผ่านบริษัทตัวกลาง (Trader) เป็นจำนวนมาก จากประสบการณ์ของการเป็นผู้ผลิตของผู้เขียนสามารถที่จะสรุปได้ว่า ปัจจัยที่เป็นต้นทุนหลักของสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะมีทั้งในส่วนของสารก่อเนื้อและสารออกฤทธิ์ ดังกล่าว ในขณะเดียวกันที่เรายังคงพึ่งพาการนำเข้าสารสำคัญจากต่างประเทศเป็นหลักผ่านคนกลาง ส่งผลให้สารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ที่ถูกนำเข้ามา ถูกนำเสนอไปยังโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางเป็นวงกว้าง และยังถูกนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเหมือนกัน และส่งต่อไปยังเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางจำนวนมาก เมื่อสินค้าที่ถูกพัฒนาออกมาจากวัตถุดิบหรือสาระสำคัญแบบเดียวกัน ถูกวางจำหน่ายในตลาดเดียวกัน จึงทำให้เกิดการแข่งขันและขาดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ กลายเป็นสินค้ามีอายุผลิตภัณฑ์สั้น (Short Product Life Cycle) ที่ต้องฟาดฟันกันในตลาด ทั้งการแข่งขันในเรื่องราคา การทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทำให้ดังชั่ววูบ และหายไปในระยะเวลาอันสั้นเช่นกัน  

การพัฒนาสารออกฤทธิ์ (Active Ingredients) ด้วยงานวิจัยด้านไบโอเทคจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย

ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น (Tropical Asea) มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สูงติดอันดับประเทศต้นๆของโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องของอุตสาหกรรมเกษตร และเกษตรแปรรูป ซึ่งในกระบวนการแปรรูปดังกล่าวยังทำให้เกิดของเหลือจากกระบวนการ (By Product) ที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์และเหลือทิ้งอีกเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันผู้เขียนมีโอกาสร่วมทำงานกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยหลายหน่วยงาน ได้มีการลงนามความร่วมมือระดับองค์กรสู่การเป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและการดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยหนึ่งในภารกิจของเรา คือการพัฒนาสารสกัดจากผลิตผลทางการเกษตรและการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับของเหลือจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมเกษตรสู่การเป็นวัตถุดิบมูลค่าสูงเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยและตลาดโลก หากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากร่วมพัฒนาผลงานวิจัยกับเรา เพื่อป้อนวัตถุดิบและสารสกัดใหม่ๆเข้าสู่อุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาซัพพลายเชนเครื่องสำอางให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน สามารถติดต่อผ่านทั้งช่องทางเพจและเว็บไซต์ได้เช่นกันครับ