เขียน Proposal อย่างไรให้โดนใจกรรมการ
เขียน Proposal อย่างไรให้โดนใจกรรมการ
การเขียน Research Proposal อย่างไรให้ได้ทุนวิจัย เป็นคำถามสำหรับนักวิจัยหน้าใหม่อยู่เสมอProposal ที่ดี ควรระบุความเป็นมาและแสดงความสำคัญของปัญหาให้ชัดเจน มีระเบียบวิธีการวิจัยที่ดี แสดงขอบเขต ขั้นตอนและรายละเอียดของการทำวิจัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะทำโครงการให้สำเร็จและมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม การเขียนอย่างไรให้โดนใจกรรมการ และที่มีเปอร์เซ็นต์ได้รับการอนุมัติสูงมีอะไร ได้รวบรวมเทคนิคแต่ละเรื่องไว้ดังนี้
หัวข้อการวิจัย”ต้องน่าสนใจ”
ตั้งชื่อหัวข้อวิจัยให้น่าสนใจ ทันต่อเหตุการณ์ ต้องเป็นเรื่องใหม่ยังไม่ได้มีใครทำมาก่อน มีความชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการเร่งด่วน สามารถนำไปสู่การศึกษาต่อยอด และ/หรือนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
ทั้งนี้ควรสื่อสารด้วยคำสำคัญ (keyword) ตามประเด็นปัญหาที่ต้องการศึกษาเพื่อหาคำตอบนำไปสู่การแก้ไข เน้นความแตกต่างที่สำคัญกับโครงการคู่แข่ง และควรสอดคล้องกับบริบทของสังคม,หน่วยงานที่ไปขอทุน หรือนโยบายแยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ
ระเบียบวิธีวิจัย”มีขั้นตอนชัดเจน”
การออกแบบการวิจัยที่ดีจะส่งผลไปถึงเครื่องมือและวิธีการวิจัย อันนำไปสู่ Output / Outcome ที่ดี สามารถตอบข้อสงสัยหรือแก้ปัญหาได้ ควรให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยว่าแต่ละขั้นตอนทำอย่างไร หากทำออกมาเป็นผังงานก็จะดีมาก โดยทั่วไปจะมีรายละเอียดในเรื่องต่อไปนี้
- วิธีการวิจัยที่เลือกใช้เป็นวิธีวิจัยแบบใด เช่น ใช้การวิจัยเอกสาร การวิจัยแบบทดลอง การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงคุณภาพ หรือจะใช้หลายๆ วิธีรวมกัน ซึ่งก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้วิธีอะไรบ้าง
- แหล่งข้อมูล จะเก็บข้อมูลจากแหล่งใดบ้าง และระบุจำนวนตัวอย่าง
- วิธีการเก็บข้อมูล ระบุว่าจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างไร มีการใช้เครื่องมือและทดสอบเครื่องมืออย่างไร
- การประมวลผลข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ระบุการประมวลผลข้อมูลว่าจะทำอย่างไร และในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือการทดสอบสมมติฐานจะทำอย่างไร จะใช้สถิติอะไรบ้างในการวิเคราะห์ข้อมูล มีความเหมาะสมและน่าเชื่อถือเพียงพอ เพื่อให้สามารถตอบคำถามของการวิจัยที่ต้องการได้
ผลลัพธ์ของงานวิจัย”วัดผลได้จริง”
ควรระบุ Output, Outcome และ Impact ให้ชัดเจน เพราะผู้ให้ทุนย่อมดูที่ผลงานเป็นหลักว่า ทำแล้วได้อะไร วัดผลได้หรือไม่ ตอบสนองเป้าประสงค์ของผู้ให้ทุนอย่างไร ควรเขียนชัดเจนว่า งานคืออะไร จะสำเร็จเมื่อไหร่ สำเร็จแล้วมีประโยชน์วงกว้าง (impacts) อย่างไร พยายามแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของโครงการว่าสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคมอย่างไร โดยอาจระบุว่ามีใครได้ประโยชน์บ้าง มีตัวชี้วัดผลลัพธ์ชัดเจน เช่น ระบุว่าจะเกิดอะไรในอีก 1-2 ปี ถ้าคนเอางานวิจัยไปใช้โดยวัดเป็น %
ทั้งนี้ ไม่ควรเขียนสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ของการวิจัยโดยตรง เช่น ได้ผลการวิจัย ได้พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ หรือเขียนล้อกับวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
“แจกแจง”เวลา งบประมาณ”ละเอียด”
ผู้ขอทุนควรเขียนงบประมาณที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่กำหนดและมีความเหมาะสมกับขอบเขตการให้ของแหล่งทุน ควรแยกกิจกรรมเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจน บอกถึงความจำเป็นที่ต้องการใช้ในการวิจัยในแต่ละรายการที่เสนอ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต้องสอดคล้องกับระเบียบวิธีวิจัย ทั้งนี้ผู้ขอทุนควรศึกษาระเบียบการเบิกจ่ายจากแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยให้ดี
หลายครั้งที่นักวิจัยมักตั้งคำถามว่า ทำไมถูกตัดงบประมาณมาก จุดนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการระบุกิจกรรมไปพร้อมการตั้งงบประมาณ ควรสร้างกิจกรรมย่อย ๆที่สอดรับกิจกรรมหลักให้มาก พยายามอย่าให้งบวิจัยสำหรับผู้วิจัยมากเกินไป โดยเฉพาะงบประมาณซ้ำซ้อน เช่น จ้างคนเก็บแบบสอบถามและจ่ายเบี้ยเลี้ยงทั้งยังให้ค่าตอบแทนแบบสอบถามแต่ละฉบับที่มากเกินไป
คณะผู้วิจัย”น่าเชื่อถือ”
ควรมี profile สอดรับกับประเด็นที่ทำวิจัย อาจมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแนบด้วยในกรณีที่ผู้ให้ทุนร้องขอ มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าจะสามารถทำงานที่เสนอให้สำเร็จได้อย่างมีคุณภาพและทันเวลา และมีประวัติการทำงานที่ดี ไม่มีประวัติติดค้างทุน
ที่กล่าวมาข้างต้น ถือได้ว่าเป็นเทคนิคเบื้องต้นในการเขียน proposal ที่ดี อย่างไรก็ตามเนื่องจากวิจัยแต่ละหัวข้ออาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จึงควรพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับโครงการวิจัยนั้นๆด้วย
สามารถอ่านบทความ เขียนProposalอย่างไรให้โดนใจกรรมการ และอื่นได้ที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง
https://nuph.health.nu.ac.th/training/doc/lecturer/2558/june/AHS3405.pdf