บทบาท Big data ในธุรกิจความงาม
บทบาท Big data ในธุรกิจความงาม
ในปัจจุบันธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล จนทำให้คำว่า Big data เป็น Trend ที่มาแรงมีคนให้ความสนใจอย่างมาก เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้ยินคำว่า Big data มาบ้างแล้ว แต่เคยสงสัยไหมว่าคืออะไร ทำหน้าที่อะไร
Big data คืออะไร?
Big data คือ คำนิยามของข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ทุกชนิดที่อยู่ในองค์กร ตั้งแต่ ข้อมูลบริษัท, ข้อมูลลูกค้า, ข้อมูลคู่ค้า, พฤติกรรมผู้บริโภค, ไฟล์เอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมไปถึง รูปภาพ URLs ลิงค์ต่างๆที่คุณเก็บไว้ ฯลฯ ที่มีปริมาณมากจนกระทั่งซอฟต์แวร์ปกติทั่วไปไม่สามารถรองรับการเก็บข้อมูลหรือประมวลผลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรืออาจกล่าวได้ว่า Big data คือ เทคโนโลยีหรือ Platform รุ่นใหม่ ซึ่งในรูปแบบซอฟต์แวร์ที่สามารถรองรับการจัดเก็บ การจัดการ กรองเลือกข้อมูล การวิเคราะห์ แสดงผล และการใช้งานข้อมูลที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
- มีปริมาณมาก (volume) เป็นได้ทั้งรูปแบบ online และ offline ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีปริมาณมากกว่าหน่วย TB (terabyte) ขึ้นไป
- มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (velocity) ส่งผ่านข้อมูล update กันอย่างต่อเนื่อง real-time) จนทำให้การวิเคราะห์ง่ายๆจับรูปแบบหรือทิศทางของข้อมูลไม่ได้
- หลากหลายประเภทหรือแหล่งที่มา (variety) มีรูปแบบข้อมูลที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร วิดีโอ รูปภาพ ไฟล์ต่างๆ ฯลฯ และหลากหลายแหล่งที่มา เช่น social network หรือแพลตฟอร์ม E- commerce ต่างๆ
Big Data ช่วยให้ใช้ข้อมูลจากทุกแหล่งที่เป็นไปได้ และวิเคราะห์ให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งทำให้เข้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาดำเนินการ และยังช่วยให้ตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น แล้ว Big Data จะเข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมความงามที่ได้ชื่อว่ามีการแข่งขันที่สูงมากได้อย่างไร
Big Data กับธุรกิจความงาม
ในการทำการตลาดและการทำโฆษณานั้น ต้องทำการรวบรวมข้อมูลจากหลายที่มา ตั้งแต่การสังเกตความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์, ตรวจสอบ ณ จุดขาย และข้อมูลเบื้องต้นของลูกค้า การนำข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้มาวิเคราะห์เป็นวิธีที่แบรนด์และเอเจนซี่โฆษณาใช้ในการทำงานเพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ โดยนำมาซึ่งการบรรลุเป้าหมายในการทำแคมเปญการตลาดที่ตอบโจทย์ลูกค้า
อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้อาจยังไม่เพียงพอ แบรนด์และเอเจนซี่โฆษณาต่างมองหาข้อมูลที่ลงลึกไปกว่านั้นหรือที่เรียกว่า “ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าแบบ Hyper-Personal Data” เพราะข้อมูลประเภทนี้จะช่วยให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น โดยวิเคราะห์จากข้อมูลทั่วไปหรือปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ เช่น การเป็นรอยสิวหรือมีปัญหารังแค ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ลูกค้าไม่มีทางโพสต์ลงโลกออนไลน์แน่นอน แต่ข้อมูลเหล่านี้กลับเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ และยิ่งแบรนด์มีจำนวนลูกค้ามากเท่าไหร่ ข้อมูลที่ต้องรวบรวมก็ยิ่งเยอะตามไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าแบบ Hyper-Personal Data จะทำให้ได้แคมเปญการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและมีความเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์สามารถประหยัดเงินและมั่นใจในประสิทธิภาพของแคมเปญได้ เนื่องจากได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงบวกกับสินค้าที่เหมาะสมไว้แล้ว ทุกวันนี้แบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำระดับโลกไม่ว่าจะเป็น L’Oréal, Unilever, Interpublic Group และ Weleda ต่างหันมาใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบนี้มาช่วยในการทำการตลาดทั้งสิ้น
Startup ที่นำ Big data มาใช้ในอุตสาหกรรรมความงาม
Poshly ก่อตั้งเมื่อปี 2012 ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสตาร์ทอัพที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความสวยความงามของผู้บริโภคโดยเฉพาะมาใช้เป็นโมเดลธุรกิจ Poshly เก็บข้อมูลผู้บริโภคโดยให้พวกเขาตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความงามส่วนบุคคล และจะมีโอกาสได้รับผลิตภัณฑ์บิวตี้เป็นการแลกเปลี่ยน Poshly ไม่เพียงรวบรวมข้อมูลสถิติทางประชากร, ประเภทผิวหรือผมเท่านั้น แต่ยังเก็บข้อมูลอย่างละเอียดในเรื่องการดูแลเรื่องสวยๆงามๆประจำวัน ปัญหาที่กังวล และผลิตภัณฑ์ที่ชื่นชอบผ่านแบบสำรวจสั้นๆ เว็บไซต์มี active users กว่า 400,000 คน ที่มาตอบคำถาม เว็บไซต์อ้างว่าจำนวนผู้ใช้ครอบคลุมประชากรหลายมิติสามารถใช้แทนสำมะโนครัวประชากรสหรัฐอเมริกาได้
Poshly สร้างรายได้จากการขายข้อมูลของผู้บริโภคให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า นอกจากนี้แบรนด์ยังสามารถสร้างแคมเปญบนเว็บไซต์ Poshly ได้ โดยสร้างแบบสอบถามที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดและการสร้างผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย หากมองในมุมของแบรนด์แล้วการซื้อข้อมูลจาก Poshly มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าทางแบรนด์ไปจ้างเอเจนซี่ทำการวิจัยเอง นอกจากแบรนด์บิวตี้จะเป็นลูกค้าหลักของ Poshly แล้วนิตยสารความงามหัวต่างๆก็เป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน โดย Poshly จะให้แบบสอบถามไปผูกในเว็บไซต์ของนิตยสาร ทำให้นิตยสารเข้าใจความต้องการและความสนใจกลุ่มผู้อ่านตัวเองดียิ่งขึ้นอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ในอนาคตแบรนด์เครื่องสำอางและความงาม จะยิ่งมีการเจาะข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าแบบจำเพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยข้อมูลส่วนตัวเพื่อเข้าถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการก่อนจะนำเสนอขายสินค้านั้น เป็นการใช้ Power of Data ในการเข้าถึงลูกค้าแบบรายบุคคลนั้นเอง
สามารถอ่านบทความ บทบาท Big data ในธุรกิจความงาม หรืออื่นๆได้ที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง
http://bigdataexperience.org/big-data-in-beauty-industry/