รู้จักสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม…Mentor ภาครัฐของนักวิจัยไทย
หากเอ่ยชื่อ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” หรือ สกสว. นักวิจัยหลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่หากพูดถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากสกว.ได้ดำเนินการสนับสนุนพัฒนานักวิจัยทั่วประเทศตั้งแต่พ.ศ 2535
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้บทบาเปลี่ยนบทบาทใหม่ตามนโยบายรัฐบาลเป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ” (Thailand Science Research and Innovation) จากเดิมที่เคยเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยหรือสนับสนุนการวิจัยแก่นักวิจัย หรือกลุ่มบุคคลอย่างเดียว กลายเป็นหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณและการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศแทน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของระบบวิจัยไทยที่ดำเนินการออกแบบแผนและการจัดสรรงบประมาณในหน่วยเดียวกัน
บทบาทหน้าที่ใหม่ของสกสว. เกี่ยวข้องกับนักวิจัยอย่างไร ?
ถึงแม้บทบาทจะเปลี่ยนไป แต่การเป็น mentor ยังคงดำเนินต่อไปผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ TSRI FUND ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในสังกัดแทน ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณนั้น สกสว. ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศ โดยได้แบ่งสัดส่วนตามวัตถุประสงค์ดังนี้
- ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) 50 % : จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรม (Program Management Unit: PMU) เพื่อนำไปสนับสนุนทุน (Granting) แก่หน่วยงานระดับปฏิบัติโดยต้องเป็นการทำวิจัยที่เน้นตอบยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ
- ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) 50 %
- Basic Research Fund 15 % สำหรับสถาบันอุดมศึกษา
- Function Based RDI Fund 35 % สำหรับหน่วยงานในระบ ววน. ที่ไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา
จะเห็นได้ว่า งบวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยโดยตรงคือ “Basic Research Fund” เป็นการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน โดยเป็นกรอบการทำงานระดับมหาวิทยาลัยโดยภาพรวม สร้างความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์พื้นที่และตอบโจทย์ประเทศ โดยขั้นตอนการบริหารทุน Basic Research Fund นั้น สกสว. จะจัดเป็นทุนก้อนระยะยาวที่ไม่ใช่ปีต่อปี (Block Grant) มาที่มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยจะจัดระบบการบริหารงบประมาณนี้โดยอาจทำหน้าที่คล้ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.เดิม) ภายในมหาวิทยาลัย ที่มีโครงสร้าง คณะกรรมการ สร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีระบบการพิจารณาติดตาม ตลอดจนมีระบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
ในส่วนของการพัฒนานักวิจัยนั้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นกลาง ต้องการให้มีนักวิจัยหลากหลายที่สมดุลทั้งสายวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรม เพื่อเป็นฐานนักวิจัยรับทุนในส่วนของการทำงานงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ต่อไป
บทสรุปส่งท้าย
จะเห็นได้ว่า ด้วยยุทธศาสตร์ประเทศที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านทางการวิจัย และนวัตกรรมมากขึ้นนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการวิจัยต่างๆ รวมถึงปรับโครงสร้างองค์กรภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นักวิจัยจึงควรเข้าใจการปรับเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานที่สนับสนุนด้วยเช่นกัน เพื่อให้การติดต่อประสานงานหรือขอความสนับสนุนจากภาครัฐได้ราบรื่นยิ่งขึ้น
สามารถอ่านบทความ รู้จักสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม…Mentor ภาครัฐของนักวิจัยไทย และอื่นๆได้ที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง