สารสกัดไทยคุณสมบัติไม่แพ้ใคร แต่ทำไมไม่ได้รับความนิยม?

สารสกัดไทยไม่ได้รับความนิยม

ความแข็งแกร่งของสารสกัดไทย

เมื่อพูดถึงสารสกัดของประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของสมุนไพร และอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศที่ถือเป็นจุดแข็งของเรา จึงส่งผลให้สารสกัดมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของชนิดของพืช สรรพคุณ รวมทั้งสีและกลิ่น ซึ่งพืชบางชนิดนั้นแต่ละส่วนก็ยังสามารถนำมาสกัดเป็นสารที่แตกต่างกันออกไป ในมุมมองของวงการอุตสาหกรรมความงามต่างประเทศนั้นกลับมองว่า สารสกัดของไทยนั้นเป็นสารที่มีคุณสมบัติที่ดีเมื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ และหาได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนยังไม่รู้ก็คือ ประเทศไทยนั้นมีงานวิจัยสารสกัดอยู่มากมายในสถาบัน หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ยังไม่ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ถ้าหากเรานับงานวิจัยเหล่านี้เข้าไปในรายการสารสกัดของประเทศนั้นบอกได้เลยว่า เราสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างไม่อายใคร

ดีขนาดนี้ ทำไมถึงไม่ได้รับความนิยม?

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า สารสกัดของไทยนั้นมีข้อดีเต็มไปหมด แถมต่างประเทศก็ยังให้ความสนใจ แต่ทุกคนก็ยังคงสงสัยใช่ไหมว่า ทำไมสารสกัดไทยถึงไม่ได้รับความนิยมละ? บทความนี้เราจะมาแบ่งปันประสบการณ์ในบางมุมมองของเราออกเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

มาตรฐานการรับรองสารสกัด

สารสกัดของไทยยังขาดมาตรฐานที่จะมารับรองคุณภาพในการนำไปใช้งาน ซึ่งมาตรฐานที่เรานำมาใช้งานนั้นส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานของทางต่างประเทศ  ในตอนนี้มาตรฐานของทางหน่วยงานในประเทศยังไม่รองรับสารสกัดที่ครอบคลุมมากนัก

กำลังการผลิต

ในประเทศไทยมีโครงการวิจัยเป็นจำนวนมาก ถ้าหากลองไปค้นคว้าและศึกษาดูตามเว็บไซต์ของหน่วยงาน และสถาบันวิจัยต่างๆ แต่สิ่งที่ทำให้งานวิจัยสารสกัดเหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมเป็นเพราะ ไม่มีกำลังการผลิตเพียงพอสำหรับการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ในบางสารสกัดนั้นสามารถผลิตได้ในปริมาณที่น้อยมากๆ และใช้ระยะเวลานานในการผลิต ส่งผลให้ไม่ทันต่อการนำมาใช้งานในปริมาณมาก

ไม่สามารถเข้าถึงได้

อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่างานวิจัยสารสกัดของไทยนั้นมีจำนวนที่มาก แต่กลับไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ และการเจรจาระหว่างภาคธุรกิจกับภาควิชาการนั้นสื่อสารกันคนละแบบเนื่องจากมีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องของงานวิจัย เพราะฉะนั้นในส่วนของผู้ประกอบการก็จะต้องรู้วิธีการเข้าไปพูดคุยกับนักวิจัย และทางส่วนของนักวิจัยก็จะต้องเรียนรู้ในการทำการตลาดเพื่อให้งานวิจัยสามารถขายได้และเข้าใจมุมมองของทางภาคธุรกิจเช่นกัน

ขาดแหล่งเงินทุน

ผู้ประกอบการหลายๆ ท่านคงจะมีความต้องการที่อยากจะสร้างหรือซื้อสารสกัดขึ้นมา เพื่อใช้เป็นจุดขายให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่สุดท้ายก็ต้องมาติดในเรื่องของเงินทุนเพราะ มีมุมมองว่าการทำงานวิจัยสักตัวนึงจะต้องใช้เงินทุนที่เยอะ และต้องใช้เวลานานไม่ทันต่อการนำมาใช้งาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หน่วยงานภาครัฐนั้นมีเงินสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการและนักวิจัยหากต้องการเริ่มต้นทำงานวิจัยสารสกัดเหล่านี้ เพียงแต่ว่าเราจะต้องรู้วิธีในการค้นหาและเขียนโครงการเพื่อเข้าถึงแหล่งทุน บางครั้งอาจจะช่วยประหยัดงบได้ถึงหลักแสนเลยก็เป็นได้

เป็นเพียงแค่ตัวหนังสือ

งานวิจัยที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักวิจัยจากหน่วยงาน และสถาบันวิจัยต่างๆ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เพราะ ไม่มีคนที่มาคอยทำการตลาดให้กับงานวิจัย เช่นการคิดโครงสร้างหรือวาดภาพในเชิงธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สนใจได้เห็นว่า สารสกัดตัวนี้สามารถนำไปใช้ได้อย่างไร เอาไปใช้ทำสูตรของผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง เนื่องจากงานวิจัยที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือนั้น ผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้อ่านแล้วก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เราควรจะต้องมีการย่อยข้อมูลให้สามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้นในมุมของธุรกิจ

สรุป

มุมมองของผู้ประกอบการที่มีต่องานวิจัย และมุมมองของนักวิจัยที่มีต่อการทำธุรกิจนั้นจำเป็นที่จะต้องมาเจอกันกลางทางโดยมีความเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งสองมุมมอง หากเราสามารถทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้ ดีลต่างๆ ก็จะประสบความสำเร็จ และทำให้สารสกัดของไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นในอุตสาหกรรม อีกทั้งผู้ประกอบการก็จะสามารถเข้าถึงงานวิจัยสารสกัดเหล่านี้ได้ง่ายและรู้วิธีในการนำสารสกัดเหล่านี้ไปใช้งานในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น