สาเหตุที่ครีมหายไป!

ครีมหายไปไหน

ครีมหายไปไหน?

มีผู้ผลิตจำนวนไม่น้อยที่ผลิตครีมแล้วนำไปขายให้กับผู้บริโภค ที่เคยเจอปัญหาที่ถูกลูกค้าต่อว่าเรื่องปริมาณครีมที่ได้รับดูน้อยกว่าปริมาณที่แจ้งบนฉลากของผลิตภัณฑ์ หรืออาจจะถูกตั้งคำถามสุดประหลาดว่า “ครีมหายไปไหน?” เป็นคำถามที่ผู้ผลิต หรือผู้ที่จ้างโรงงานผลิตก็ยังคงสงสัยและหาคำตอบกับสิ่งนี้ไม่ได้ ในบทความนี้เราจะมาไขความลับบางอย่างเกี่ยวกับคำถามนี้กัน ว่ามันเกิดจากอะไร?

การรั่วซึมของบรรจุภัณฑ์ ภัยเงียบสุดน่ากลัว!

ปัญหาส่วนหนึ่ง เกิดจากการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ ครีมที่ขายในตลาดส่วนใหญ่ใช้บรรจุภัณฑ์จากโรงงานจีนที่ไม่ค่อยมีคุณภาพสักเท่าไหร่ (โรงงานดียังมีอยู่ ต้องตามหากันดูนะครับ) ตลาดบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางประเทศไทยยังมำจำนวนที่น้อย ซึ่งมีแค่ 2 บริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่ ทำธุรกิจในรูปแบบซื้อมาจากจีนขายส่งให้คนไทยเป็นลูกโซ่ ขายกันปีนึงเป็นพันล้านเลยนะจ๊ะ ส่วนเรื่องคุณภาพนั้นไม่ต้องสืบ ผมเก็บข้อมูลจากการตรวจสอบคุณภาพบรรจุภัณฑ์ ก่อนการผลิตพบว่ามีของเสีย (Defect) มากกว่า 10% (นึกในใจเหมือนซื้อเพื่อเอามาทิ้ง) เพื่อไม่ให้เป็นการตัดสินใจเลือกกระปุกผิดคิดจนตัวตายเลยเอาเรื่องการตรวจสอบการรั่วซึม (Leak Test) มาเล่าให้ทุกคนฟัง เพราะในบางครั้งการเลือกบรรจุภัณฑ์ก็เป็นตัวชี้วัดการเกิดและการดับของแบรนด์เครื่องสำอางได้เช่นกัน โดยจะมี 2 รูปแบบในการตรวจสอบมาแบ่งปันให้กับทุกท่านคือ แบบง่าย และแบบผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้

การตรวจสอบการรั่วซึมแบบง่าย

เอาเนื้อครีมที่จะใช้ในการผลิตบรรจุลงกระปุกที่ต้องการตรวจสอบตั้งทิ้งไว้ ตะแคง หรือเขย่า เพื่อดูการรั่วซึม ย้ำว่า ต้องเป็นครีมที่ใช้ในการผลิต ใช้น้ำอย่างเดียวไม่ได้ครับ เพราะค่าความหนืด (Viscosity) ของครีมแต่ละชนิดไม่เท่ากัน

การตรวจสอบการรั่วซึมแบบผู้เชี่ยวชาญ

เอาเนื้อครีมที่จะใช้ในการผลิตบรรจุลงกระปุกที่ต้องการตรวจสอบแล้วใส่ในตู้อบ (Oven) (สามารถแจ้งทางโรงงานให้ตรวจสอบได้) กำหนดอุณหภูมิที่ 50 องศาเซลเซียส หลังจากครบ 24 ชม. นำมาเขย่า ตั้ง หรือตะแคงทิ้งไว้เพื่อตรวจสอบการรั่วซึมของบรรจุภัณฑ์ เพราะบางครั้งที่อุณหภูมิสูงขึ้น ก็อาจจะทำให้เกลียวในส่วนของฝาบรรจุภัณฑ์คลายตัว และครีมมีโอกาสระเหยออกมาได้

สรุป

จริงๆ ครีมที่หายไปนั้นสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยในขั้นตอนต่างๆ ของการผลิต หรือหลังจากการที่ผลิตเสร็จแล้ว เราควรจะต้องไล่ตรวจสอบไปทีละขั้นตอนเพื่อหาว่าปัญหามันเกิดขึ้นจากจุดไหนในกระบวนการ ซึ่งการรั่วซึมของบรรจุภัณฑ์ก็เป็นปัญหานึงที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม เพราะฉะนั้นการตรวจสอบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนปล่อยผลิตภัณฑ์ลงสู่ตลาดให้กับผู้บริโภค ปล. สำหรับเกณฑ์เรื่องระยะเวลาในการตรวจสอบแนะนำให้ปรึกษาทีมบริหารคุณภาพที่โรงงาน เพราะบรรจุภัณฑ์บางชนิด อาจจะตรวจสอบเป็นเวลา 7 วัน หรือมากกว่านั้นตามมาตรฐานของแต่ละโรงงาน และรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป