เรื่องของฉลาก เครื่องสำอางที่เจ้าของแบรนด์ควรรู้
หากคุณมีแบรนด์ของตนเองและอยากทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ นอกจากการศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องคุณภาพสินค้า ราคาสินค้า ช่องทางจำหน่ายสินค้า และกลยุทธ์การตลาด แล้ว เจ้าของแบรนด์ไม่ควรมองข้ามรายละเอียดปลีกย่อยที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างการใส่รายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้า เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ
ฉลากสินค้า คือแถบที่ระบุข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค การมีฉลากที่ระบุข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าจะช่วยประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น แล้วต้องระบุข้อมูลอะไรบนฉลากเครื่องสำอางบ้าง
12 ข้อมูลสำคัญที่ต้องระบุบนฉลาก
1. ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า
ต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่นเพื่อให้โดดเด่น มองเห็นชัดเจน ควรระวังไม่สื่อถึงสรรพคุณเกินจริง
2. ประเภทหรือชนิดเครื่องสำอาง
ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์อะไร ใช้เพื่ออะไร เช่น ครีมป้องกันแสงแดด สบู่ ครีมบำรุงผิว แชมพูสระผม
3. วิธีใช้
ควรบอกข้อมูลการใช้โดยละเอียดเช่น ผลิตภัณฑ์เซรั่ม ควรระบุว่าใช้บริเวณใด ปริมาณการใช้แต่ละครั้งเท่าใด ใช้ช่วงเวลาใด
4. ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม
ต้องเป็นชื่อตามตำราที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศกำหนด และเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย
5. ข้อเสนอแนะ/คำเตือน เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล (ถ้ามี)
บางกรณีเครื่องสำอางบางประเภทจะต้องแสดงคำเตือนที่ฉลากด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ย้อมผม มีข้อความระบุว่า ให้หยุดใช้เมื่อเกิดอาการระคายเคือง และควรพบแพทย์ทันที
6. ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต
ในส่วนนี้จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบของเจ้าของแบรนด์ หากผู้บริโภคเกิดปัญหาใดๆ ก็สามารถติดต่อไปยังผู้รับผิดชอบได้ กรณีนำเข้ามาจากต่างประเทศให้แสดงชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้าและชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิตแทน
7. เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต
การแจ้งครั้งที่ผลิตจะทำให้ทราบถึงรุ่นที่ผลิต จำเป็นในกรณีที่ต้องอ้างอิงสินค้าที่เกิดปัญหาขึ้น และยังช่วยบอกจำนวนการผลิตในปีนั้นๆได้ด้วย
8. เดือนปีที่ผลิต
เพื่อให้ผู้บริโภคทราบระยะเวลาของการผลิตเครื่องสำอางชนิดนั้น และคำนวณอายุการใช้งานของเครื่องสำอางประเภทนั้นว่า ผลิตมานานแค่ไหนแล้ว
9. เดือนปีที่หมดอายุ
การแจ้งวันเดือนปีที่หมดอายุจะทำให้ทราบถึงอายุของผลิตภัณฑ์เช่นกัน สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน กฎหมายให้ระบุวันเดือนปีวันหมดอายุ เช่น ลิปสติกมีอายุการใช้งาน 1-2 ปี, ครีมบำรุงผิวมีอายุการใช้งาน 1 ปี
10. เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก
เป็นเลขที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้มาแจ้งรายละเอียดตามข้อกำหนดการผลิตเพื่อขาย หรือ นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอาง กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถใช้เลข 10 หลักในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้
11. ปริมาณสุทธิ
เพื่อบอกปริมาณของตัวสินค้า โดยเครื่องสำอางจะใช้หน่วยวัดปริมาณเป็น กรัม เช่น สบู่ 1 ก้อน ปริมาณสุทธิ 80 กรัม ลิปสติก 1 แท่ง ปริมาณสุทธิ 3.9 กรัม เป็นต้น
12. ข้อความจำเป็นอื่นๆ (ถ้ามี)
กรณีภาชนะบรรจุมีขนาดพื้นที่น้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร อย่างน้อยต้องแสดงข้อความ ดังนี้ ชื่อเครื่องสำอาง และชื่อทางการค้า, เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต, เดือนปีที่ผลิต และเลขที่ใบรับแจ้ง ส่วนข้อความอื่นๆ ให้แสดงในใบแทรกเอกสาร หรือคู่มือที่ใช้ประกอบเครื่องสำอางแทน
นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์บางอย่างแล้วที่เป็นเจ้าของแบรนด์ควรรู้ด้วยเช่นกัน โดยหากสินค้าของเรามีสัญลักษณ์เหล่านี้ จะทำให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือดูมีมาตรฐานมากขึ้นด้วย
- สัญลักษณ์รีไซเคิล หมายถึง บรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง
- สัญลักษณ์หนังสือ หรือหนังสือพร้อมมีมือชี้ หมายถึง ผู้ใช้ควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนใช้ เพราะอาจมีคำเตือนหรือข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ระบุอยู่ที่ฉลาก
- กระป๋องเปิด แล้วมีตัวเลขกำกับไว้ ตามด้วย m (month) หมายถึง ผลิตภัณฑ์นี้มีอายุเท่าไร (ระบุเป็นจำนวนเดือน) นับตั้งแต่เปิดให้เนื้อผลิตภัณฑ์สัมผัสอากาศ เช่น มาสคาราจะเริ่มนับเวลาตั้งแต่การดึงก้านมาสคาราออกมาครั้งแรก หรือผลิตภัณฑ์หัวปั๊มก็นับตั้งแต่ทำการกดครั้งแรก
สามารถชมบทความ เรื่องของฉลาก เครื่องสำอางที่เจ้าของแบรนด์ควรรู้ หรือบทความอื่นๆได้ที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bkkpaperbox.com/content/12237/ฉลากเครื่องสำอาง-ที่เจ้าของแบรนด์ควรรู้
https://www.derma-innovation.com/content/11709/เรื่องที่คุณยังไม่รู้-เกี่ยวกับ-ฉลากเครื่องสำอาง