โรงงานขายเป็นโล ลูกค้าอยากได้เป็นชิ้น คำนวณอย่างไร?

คำนวณการผลิตครีม

โรงงานขายเป็นโล ลูกค้าอยากได้เป็นชิ้น คำนวณอย่างไร?

วงการเครื่องสำอางในประเทศไทยนับเป็นวงการที่มีการเติบโตสูงมากในปัจจุบัน ทำให้หลายๆ คนเริ่มเข้ามาศึกษาและสนใจที่จะผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งหนึ่งในวิธีการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือ ค้นหาโรงงานผลิตเครื่องสำอางบนเว็บไซต์ต่างๆ แล้วติดต่อเข้าไปที่โรงงานโดยตรง และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงงานมักจะแจ้งยอดการสั่งผลิตขั้นต่ำ หรือมักจะถูกถามว่า “สนใจผลิตสินค้าที่กี่กิโลกรัม” มือใหม่อย่างเรา คงนึกไม่ออกว่าจะสั่งกี่กิโลกรัมดี แล้วถ้าสั่งตามขั้นต่ำของโรงงาน มันจะได้กี่ชิ้นกันนะ เรื่องพื้นฐานแบบนี้ หลายคนคิดไม่ออกจริงๆครับ เพราะว่าคนที่จะมาทำธุรกิจสายนี้มีพื้นฐานและประสบการณ์ที่ไม่เท่ากัน ในบทความนี้เราจะมาอธิบายว่าควรจะเริ่มและทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้อย่างไรดี

วิธีการคำนวณการสั่งซื้อหรือผลิตอย่างง่าย

การคำนวนจากกิโลกรัมเป็นจำนวนชิ้นของผลิตภัณฑ์ คำนวนไม่ยากครับ แต่สิ่งที่ต้องเตรียมคือ การถามรายละเอียดจากโรงงานมาให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณของเรา และเตรียมข้อมูลในฝ่ายของเราว่าเราอยากจะผลิตหรือซื้ออะไร ในปริมาณเท่าไหร่ต่อชิ้น 1. โรงงานมีขั้นต่ำในการสั่งซื้อกี่กิโลกรัม ซึ่งแต่ละรูปแบบของเครื่องสำอางก็จะมีจำนวนขั้นต่ำที่แตกต่างกัน 2. เราต้องการบรรจุครีมต่อชื้นกี่กรัม หรือกี่มิลลิลิตร เมื่อเราได้คำตอบดังนี้แล้วก็มาเริ่มคำนวณกันเลย ยกตัวอย่างให้เห็นตามภาพด้านล่าง   คำนวนปริมาณครีม   ขั้นต่ำในการสั่งซื้อที่โรงงานกำหนดอยู่ที่ 10 กก. เราต้องการบรรจุครีมที่ 30 กรัม ให้เราแปลงหน่วย จากกิโลกรัมเป็นกรัมก่อนครับ โดย 1 กิโลกรัม = 1,000 กรัม ครีมขั้นต่ำ 10 กิโลกรัม = 10X1,000 กรัม แล้วหารด้วยปริมาณที่บรรจุต่อชิ้นน 30 กรัม จำนวนชื้นงาน = (10X1000)/30 = 333 ชิ้น

บรรจุจริงแล้วได้ผลิตภัณฑ์น้อยกว่าจำนวนที่คิดไว้ เกิดขึ้นจากอะไร?

แชร์ความรู้ประมาณ 3 ข้อ จากประสบการณ์การผลิตให้กับลูกค้า ปัญหาที่ลูกค้าหรือโรงงานมักจะเจอคือเวลาบรรจุจริง ทำไมถึงบรรจุได้ไม่ครบกับจำนวนบรรจุภัณฑ์ตามที่เราคำนวนไว้? โดนโกงหรือเปล่านะ? 1. บรรจุภัณฑ์ทุกชนิด มักจะทำขนาดบรรจุใหญ่กว่าปริมาตรที่แจ้ง บรรจุจริงจะได้ชิ้นงานน้อยกว่า แก้ไขด้วยการชั่งด้วยเครื่องชั่ง 2 ตำแหน่ง ก่อนการปิดฝาบรรจุภัณฑ์ 2. บรรจุภัณฑ์ประเภท Airless Pump ทำขนาดบรรจุมากกว่าที่แจ้งแต่ไม่สามารถบรรจุพอดีได้ จำเป็นต้องบรรจุให้เต็ม ไม่อย่างนั้นจะกดไม่ออกครับ เช่น แจ้งไว้ 30 ml แต่บรรจุเต็มจริงๆ 35 ml ถ้าบรรจุครีม 10 กิโล/ลิตรจะได้งานแค่ 285 ชิ้น ได้ไม่ถึง 333 ชิ้น 3. หลอดเทสเตอร์หลอดเล็กๆ ในตลาดหลายชนิด ก็ทำปริมาตรบรรจุมากกว่าที่มีการแจ้งตอนขายครับ บรรจุเต็มหมายถึงบรรจุเกิน ต้นทุนทั้งนั้นครับ เมื่อก่อนตอนที่พึ่งเริ่มเข้ามาในวงการใหม่ๆ เคยทะเลาะกับลูกค้าท่านหนึ่ง ซึ่งไม่เข้าใจการคำนวนและการบรรจุ เสียใจที่ไม่สามารถอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจได้อย่างถูกต้อง วันนี้เข้าใจแล้วว่าส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดขึ้นจากตัวผมเองที่ไม่มีความสามารถเรื่องการสื่อสารที่ดีพอ เลยมาขอแก้ตัวอธิบายให้คนที่สนใจสร้างแบรนด์ท่านอื่นๆ เพื่อเป็นความรู้สำหรับทุกท่านที่กำลังสนใจจะเข้ามาในวงการเครื่องสำอาง