8 ข้อควรรู้ก่อนทำ Startup
Startup เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนรุ่นใหม่หลายคนฝันถึง หลายๆคนเห็นข่าว Startup ประสบความสำเร็จแล้วอยากทำ Startup บ้าง แต่ในความจริงการทำ Startup ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวิธีคิดแบบ Startup ต่างจากการทำงานในบริษัทใหญ่หรือ SME มาก เนื่องจากต้องสร้างโซลูชั่นที่ไม่เคยมีมาก่อนและต้องโตเร็วมาก ลองมาดู 8 ข้อควรรู้ก่อนทำ Startup
อะไรบ้างที่ควรรู้ก่อนเริ่มทำ Startup ของตัวเอง
1. 90% ของ Startup ไปไม่รอดภายใน 1–2 ปี
อัตราการตายของธุรกิจ Startup นั้นสูงกว่าการทำธุรกิจ SME ทั่วไป เพราะเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ใช้ เน้นการขยายตลาดอย่างรวดเร็ว และเป็นเรื่องใหม่มาก ทำให้ในช่วงแรกทีมผู้ก่อตั้ง ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเข้าสู่ตลาด ถ้าคิดจะเข้ามาทำ Startup ต้องเตรียมใจรับมือกับมันให้ดี
2. 2 ปีแรก คุณอาจจะไม่ได้เงินเดือนจากธุรกิจคุณเอง
หากคิดจะทำ Startup แล้วเซ็ตว่าจะได้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งบริษัท บอกได้เลยว่าเงินทุนจะหายไปกับเงินเดือนในแต่ละเดือน ไม่ได้เอาไปทำธุรกิจ กว่าจะได้เงินเดือนจากธุรกิจอาจจะใช้เวลาเกือบ 2 ปี ดังนั้นในช่วงแรกนอกจากคุณต้องลงแรงแล้ว เงินเดือนก็อาจจะไม่ได้ด้วย ดังนั้นก่อนจะเริ่มทำ Startup ลองถามตัวเองว่าอยู่ได้ไหม
3. มีตลาดรองรับที่ใหญ่มากพอและแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้ดีที่สุด
ธุรกิจต้องอยู่ในตลาดที่ใหญ่มากพอที่จะสร้างความเติบโต เพราะหากมีแค่กลุ่มคนจำนวนเล็กๆ การอยู่รอดให้ได้ในตลาดที่แข่งขันสูงอาจทำให้ยืดระยะไม่ได้ และต้องปิดตัวลงไปในที่สุด อีกทั้งต้องดูว่าโซลูชั่นของเรากำลังเป็นแบบ Must Have ไม่ใช่เป็นแค่ Nice to Have ที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ หรือถ้าเป็นปัญหาที่มีคนแก้อยู่แล้ว ก็ต้องสามารถแก้ได้ดีกว่าเดิม เมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่ผู้ใช้พบอยู่ในปัจจุบัน
4. ถูกที่ถูกเวลา
เวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องดูสิ่งแวดล้อมด้วยว่าตลาดมีความพร้อมหรือไม่ ดูว่าผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับ Technology Adoption ของผู้ใช้ไหม หรือกำลังไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคมากเกินไปหรือเปล่า ยกตัวอย่าง เช่น YouTube หากมาในช่วงเมื่อ 20 ปีก่อนที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ค่อยพร้อม อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนตอนนี้
5. สร้างทีมงานที่เข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี
ทีมที่ดีควรมีบุคคล 2 ลักษณะ คือ.
- Expertise: ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในธุรกิจหรือเทคโนโลยีนั้นๆ ในเชิงลึก
- Team: ทีมงานที่มีประสบการณ์และทักษะในการดำเนินธุรกิจแบบ Startup และ balance ระหว่างธุรกิจ, เทคโนโลยี, ทักษะการออกแบบ และการทำให้ไอเดียดังกล่าวเป็นจริงได้
ในช่วงเริ่มต้นนักลงทุนจะเลือกลงทุนในทีมงานด้วยไม่ใช่แค่ที่ไอเดียเสมอไป เพราะทีมงานที่ดีจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจนั้นเติบโตได้ในทึ่สุด
6. อัตราการซื้อซ้ำ (Retention Rate) คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการเติบโต
การทำการตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับ Startup คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้ได้ดีที่สุด Startup จะอยู่รอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมีจำนวนผู้ที่กลับมาใช้อย่างต่อเนื่องมากแค่ไหน ถ้าวผลิตภัณฑ์ไม่ดีพอ คนใช้ครั้งเดียวเลิก ต่อให้มีเงินโฆษณามากเท่าไรก็ไม่พออยู่ดี ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มอัตราการซื้อซ้ำ (Retention Rate) ทำให้ Startup เติบโตได้อย่างแท้จริง ดังนั้น ต้องมีวัดผลได้อย่างละเอียด พร้อมทั้งหาข้อมูลลงลึกไปอีกว่า ‘ทำไม’ ถึงมีคนกลับมาใช้อย่างต่อเนื่อง และเป็นคนประเภทไหน เพื่อจะได้พัฒนาอย่างถูกต้องและตรงจุด
7. รักษาการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งหลุมพรางของ Startup ใหม่ คือคิดว่าสิ่งที่ทำต้องให้ผลลัพธ์ที่ดีในเวลาอันสั้น หากแต่ความเป็นจริงคือ การรักษาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องต่างหากที่สำคัญ ควรมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน ส่งมอบงานตรงเวลา และมีระบบการวัดผลที่ถูกต้อง เพราะท้ายสุดแล้วเราต้องการการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มากกว่าการเติบโตมากมายที่จัดการหรือควบคุมไม่ได้
8. เงินทุนมีมากมายแต่จะลงกับธุรกิจที่ดีจริงๆเท่านั้น
ปัจจุบันมีองค์กรและบุคคลผันตัวมาเป็น investor มากมาย ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีเงินทุนรองรับ แต่นักลงทุนก็ไม่ได้มองแค่การเติบโตอย่างเดียว แต่ยังมองไปถึงการสร้างธุรกิจที่ดีและยั่งยืนในระยะยาวด้วย เพราะที่สุดแล้วมั่นใจได้ว่าธุรกิจดังกล่าวจะสร้างผลตอบแทนได้แน่นอน ดังนั้นหากสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้จะมีนักลงทุนสนใจ แต่ในทางกลับกันหากคิดจะหวังพึ่งเงินลงทุนอย่างเดียว ในปัจจุบันบอกได้เลยว่ายากมาก
สามารถชมบทความ 8 ข้อควรรู้ก่อนทำ Startup และ อื่นๆได้ที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง
http://dv.co.th/blog-th/5-tips-for-startup/
https://medium.com/@parinprinz/9-ด้านมืดที่ควรรู้-ก่อนเริ่มทำ-startup-4c98ab5ab7c6
https://techsauce.co/tech-and-biz/6-factors-make-great-startup-idea-krungsriunistartup2018