Agritech โอกาสและทางรอดของเกษตรไทย
Agritech โอกาสและทางรอดของเกษตรไทย
ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยในปัจจุบันมีมูลค่าต่อ GDP (ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ)เติบโตขึ้นจากสัดส่วน 8-9% ขึ้นมาเป็น 10-11% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลงเหลือ 6% โดยมีกลุ่มธุรกิจมาแรงอย่าง ภาคบริการ ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ดังนั้นความหวังของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศจึงต้องเชื่อมโยงภาคการเกษตรกับภาคบริการ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศเข้ามาผนึกกำลังกันไปลุยตลาดโลก
อย่างไรก็ตามธุรกิจเกษตรไทยต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวนมากขึ้น กฎทางการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนไป ไปจนถึงสภาพอากาศและภัยคุกคามทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ประกอบการเกษตรต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมีการพูดถึงและเริ่มนำเทคโนโลยีเกษตร (Agritech : Agricultural Technology) มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น
Agritech คือ การเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนช่วยยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม รูปแบบของ Agritech ในปัจจุบันมีหลากหลาย เช่น
- เครื่องจักรกลและระบบการเพาะปลูกอัตโนมัติ
- โดรนที่ใช้ในการเกษตร
- เทคโนโลยีด้านการตลาด ได้แก่ การซื้อขายสินค้า จัดหาวัตถุดิบ เช่าซื้ออุปกรณ์การเกษตรทางออนไลน์
Agritech จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งทำให้การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น น้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก แรงงาน มีประสิทธิภาพมากกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร ตั้งแต่เกษตรกร ผู้แปรรูป จนถึงผู้ขายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่มศักยภาพในการผลิต รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือกับเกษตรกร
อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายรออยู่ เนื่องจากเกษตรกรในไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ยังไม่มีเครือข่ายหรือรวมกลุ่มเพื่อผลิตและขายสินค้าเพื่อให้ได้ปริมาณที่มาก การนำเทคโนโลยีต้นทุนสูงมาใช้อาจให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เกษตรกรรายย่อยจึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาให้ AgriTech มีต้นทุนต่ำลง รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีการรวมแปลงเกษตรเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด เกษตรกรรายย่อยจึงจะสามารถนำ AgriTech มาเป็นตัวช่วยในการเพาะปลูกได้ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เกิดการใช้ AgriTech อย่างแพร่หลายในไทย
ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องยาก ที่เกษตรกรไทยจะเข้าสู่ความเป็น Agritech อย่างเต็มร้อย แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่ ๆ ถูกนำมาใช้ และสามารถหาซื้อ จับต้องได้ง่ายขึ้น ในอนาคตเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคนไทยมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จะช้าบ้างเร็วบ้างขึ้นอยู่กับความพร้อมและการสนับสนุน อย่างไรก็ดีเชื่อว่า ประเทศไทยจะยังครองความเป็นฮับการเกษตรของโลกอีกประเทศหนึ่ง ด้วยทรัพยากรและความขยันขันแข็งของเกษตรกรไทย
สามารถอ่านบทความ Agritech โอกาสและทางรอดของเกษตรไทย และอื่นๆได้ที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง
https://brandinside.asia/agritech-thai-agriculture/
https://www.rakbankerd.com/agriculture/hilight-view.php?id=178&s=tblheight