Contents
เบื้องหลัง 4 นาที บนเวที Life Science Start up ในไทยสู่การคว้า Gold Prize รางวัลนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ Silicon Valley
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในงานทำงานสตาร์ทอัพในสาย Deep Biotech ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ยินสตาร์ทอัพในด้านนี้กันเท่าไหร่ เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆกับการต้องบริหารธุรกิจ SMEs ของตัวเอง ควบคู่ไปกับการเรียนป.โทที่ CMMU เป็นช่วงชีวิตที่ยุ่งเหยิงมาก บางวันได้นอนแค่ 3-4 ชม. แต่สุดท้ายผ่านมันมาได้ และได้บทเรียนและข้อคิดกับชีวิตเยอะมาก เริ่มกันเลยละกันครับรางวัลนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ Gold Prize จาก Silicon Valley
ผมว่าหลายสตาร์ทอัพใฝ่ฝันที่จะได้ไปเหยียบ Silicon Valley สถานที่ที่เป็นจุดรวมตัวของสตาร์ทอัพระดับโลกหลายต่อหลายบริษัท สำหรับผม ผมว่าการได้ไปที่นั่นคงเป็นฝันจางๆที่ยากจะไปถึง แต่อยู่ดีดีโอกาสก็ร่วงทับตัวผมแบบกระทันหันไม่ทันตั้งตัวเลยจริงๆ สสว.(สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เป็นหน่วยงานรัฐบาลที่ดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีบ้านเรา ซึ่งปีก่อน หนึ่งในบริษัทที่ผมดูแลอยู่ เข้าประกวดสถานประกอบการ และกลายเป็นสุดยอดเอสเอ็มอี ในงานSME National Award ครั้งที่ 9 สสว.รู้จักเราจากเวทีนั้น ด้วยการประสานจากทางวว.(สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) เพื่อคัดเลือกผลงานจากผู้ประกอบการไทยเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมงานแสดงผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์(Silicon Valley International Invention Festival 2018) เราดึงโปรเจคที่เป็น Business Unit นึงที่เราตั้งทีมทำงานสตาร์ทอัพขึ้นมาเพื่อใช้เป็นผลงานในการแข่งขัน และในที่สุดเราได้เป็นตัวแทน 1 ใน 3 ของประเทศ เพื่อเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันที่นั่น (ได้รับงบสนับสนุนจากทั้ง สสว.และวว.) แต่มีเรื่องยุ่งยากมากกว่าเดิมคือ ผมมีเดินทางไปเรียนที่ประเทศมองโกเลียในเรื่อง Digital for Agribusiness ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ก่อนการประกวดอาทิตย์นึง เลยต้องบินต่อจากประเทศจีนไปที่อเมริกาโดยไม่ต้องกลับมาไทย และผมโชคดีที่ถือวีซ่าอเมริกา 10 ปี เลยตัดปัญหาการทำวีซ่าเร่งด่วน ไม่งั้นคงไม่ได้ไปแน่ๆครับ ถึงหน้าเปลี่ยนไปไกลมาก ก็ยังได้เข้าประเทศโดยไม่มีปัญหาอะไรนะครับ ในส่วนงานแสดงผลงานดังกล่าวมีผู้ร่วมนำเสนอผลงานกว่า140หน่วยงาน จากมากกว่า 30ประเทศ เป็นระยะเวลา 3วัน การประเมินจะถูกตัดสินด้วยผลงานตั้งแต่การกรอกข้อมูลรายละเอียดในการสมัคร และมีคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าเยี่ยมชม เราต้อง Pitch ผลงานและตอบข้อซักถาม โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่การเตรียมข้อมูลและเนื้อหาสำหรับการนำเสนอ แต่ด้วยเรามีประสบการณ์ในการขึ้น Pitch บนเวทีสตาร์ทอัพจากประเทศไทยมาพอสมควร จึงพอมีประสบการณ์ในการนำเสนอ ซึ่งในมุมมองของผม ปัจจัยที่จะทำให้งานประดิษฐ์มีโอกาสได้รับการยอมรับและได้รับรางวัลคือ- เป็นนวัตกรรมที่แท้จริง หรือมีการต่อยอดจากนวัตกรรมเดิมอย่างสร้างสรรค์
- มีการพัฒนาผลงานจนกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า
- พร้อมสำหรับการดำเนินการในเชิงพาณิชย์หรือเริ่มดำเนินการแล้ว
มังคุดกับ Deep Biotech โอกาสใหม่ของสารสกัดไทยในต่างประเทศ
ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ทุกคนรู้ว่าตลาดเติบโตสูงมากในบ้านเรา แต่ในการเติบโตที่สูงขึ้นผมว่าคงเทียบกับอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นไม่ได้เลย มีผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต บริษัทที่เปิดมาเป็นช่องทางการกระจายสินค้า รวมไปถึงเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางหน้าใหม่อีกมหาศาล เราพึ่งพาการใช้วัตถุดิบและสารสกัดจากต่างประเทศผ่านคนกลางที่ซื้อเข้ามา แล้วขายเข้าโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางที่จดทะเบียนในบ้านเรากว่า 1700 บริษัท สารสกัดชนิดเดียวกันถูกผลิตเป็นสินค้าแบบเดียวกัน ขายไปในตลาดเดียวกัน ฟาดฟันกันด้วยการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการโปรโมทผ่านกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง สินค้าที่ไม่ได้มีนวัตกรรม ไม่มีคุณภาพ เมื่อขาดการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ผู้บริโภคหมดความสนใจ และทำให้วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สิ้นสุดไปอย่างรวดเร็วผมบอกกับทุกคนในบริษัทว่าเราต้องหลุดออกจากวงจรนี้ให้ได้ ในที่สุดผมมีโอกาสรู้จักสถาบันผลิตผลเกษตรฯมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านทีมงานที่จบป.โทจากที่นั่น จนมีโอกาสร่วมทำงานวิจัยหลายโครงการ ตลอด 4 ปีกับการได้รับโอกาสจากสถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จมากคงเป็นโปรเจคสารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุด เราโชคดีที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์กับสารสกัดมังคุดกว่า 10ปี ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามังคุดมีคุณสมบัติทางยา จริงๆสมัยก่อน มีคนเอาเปลือกมังคุดไปทำยาแผนโบราณเยอะแยะเลยครับ แต่คุณสมบัติอีกด้านคือ การนำมังคุดประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมความงาม ถ้าเรายกมังคุดว่าเป็นราชินีผลไม้ ผมว่าเราคงต้องให้อีกตำแหน่งคือ เป็นพืชที่เป็นราชินีแห่งความงามที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นสารสกัดมูลค่าสูงได้อีกนับไม่ถ้วน พอได้สุดยอดสารสกัดมาแล้วเราเริ่มพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์รักษาสิวภายใต้แบรนด์ ACNOC โดยใช้ส่วนผสมที่มีผลงานวิจัยรับรองจากพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นของเรา ทดลองทำสูตร ผมทดลองใช้ด้วยตัวเองทุกล็อตการผลิต (ตอนนั้นมีปัญหาสิวหนักมากๆพอดีครับ) เราทำแบบนี้วนไปวนมา จนกว่าหน้าตัวเองจะดีขึ้น และมั่นใจว่าสูตรผลิตภัณฑ์คงตัว ผ่านการทดสอบทั้ง Stability และ Compatibilityเราเอาผลงานนี้ไปเปิดตัวครั้งแรกที่งาน Cosmoprof Hongkok โดยเราของบประมานในการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออกฯDITP จากโครงการSME Proactive (เพราะเรางบน้อย) ลูกค้าที่ได้ตัวอย่างทดลองจากบูธเราไปในวันแรก เดินกลับมาซื้อในวันถัดมาทุกรายครับของที่แบกไป ถูกขายหมดเกลี้ยงภายใน 2วัน เรามั่นใจในผลิตภัณฑ์เรามากขึ้น และเรียนรู้ว่าการขายสินค้าส่งออก สิ่งที่ลูกค้าต่างชาติถามหามากที่สุดคือ ผลการทดสอบทางคลินิก (Clinical Test Report)มีสิ่งที่เซอร์ไพรซ์ที่สุดจากในงานคือ ผมได้รับอีเมล์จากบริษัทใหญ่ระดับโลกจากประเทศจีน ติดต่อมาเพื่อขอซื้อสารสกัด แต่เราต้องปฏิเสธไป เพราะเราไม่สามารถสกัดได้ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขนาดนั้นได้ ปรากฏการณ์ความสนใจสารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุดไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฮ่องกง ช่วงนั้นเราไปที่งาน Intercharm Professional Moscow 2016 ที่ประเทศรัสเซีย มีชาวรัสเซียต่อแถวรอคุยกับเรายาวมาก ถึงขั้นที่คนมารออารมณ์เสียที่ไม่ได้คุยกับเราเรื่องสารสกัดจากมังคุดซะที อย่างล่าสุดงานสารสกัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น Cite Exhibition 2017 ที่โยโกฮาม่า เราก็มีไปร่วมออกบูธกับพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นของเรา มีบริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในช่องปากที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่นก็สนใจสารสกัดของเราเช่นกัน ส่วนงานที่ประทับใจที่สุดคิดว่าน่าจะเป็นงานแสดงสินค้าที่ชื่อ Cosme Tokyo ที่ได้รับเชิญบรรยายเป็นภาษาอังกฤษโดยนำเสนอเรื่องราวของการใช้สารสกัดไทยร่วมกับสารสกัดจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้เครื่องหมายการค้า ACNOC สารสกัดจากเปลือกมังคุด (Crude Extract) จะเป็นสารสกัดอย่างหยาบ มีลักษณะสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ ซึ่งเมื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีมูลค่าสูง (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า) จะทำให้ลักษณะของผลิตภัณฑ์มีสีที่ไม่มิตรต่อผู้บริโภค และทำให้สินค้าดูด้อยค่าลง นอกจากนั้นหากประเมินปริมานจากแซนโทนจากสารสกัดจากเปลือกมังคุด จะมีปริมานสารแซนโทนในจำนวนน้อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้สารในเปอร์เซ็นต์ที่สูงเพื่อให้ออกฤทธิ์และเกิดผลลัพธ์อย่างชัดเจน กระบวนการสกัดสารแซนโทนบริสุทธิ์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยปัจจุบันเราสามารถพัฒนากระบวนการสกัดสารแซนโทนบริสุทธิ์ที่มีความเข้มข้นถึง 100% และนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เราสามารถส่งสารสกัดแซนโทนจากเปลือกมังคุดไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นและประเทศบราซิลได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทยการ Pitchโปรเจค ไม่ใช่เพื่อขอเงินจากนักลงทุนอย่างเดียว แต่มันช่วยสร้างวิวัฒนาการให้ธุรกิจเราได้
การประกวดในงาน Startup ไม่ใช่เพื่อแบมือขอเงินจากนักลงทุนอย่างเดียว แต่การขึ้นเวทีเพื่อนำเสนอสั้นๆ 4-5 นาที คือการพิสูจน์ตัวเองอย่างหนึ่ง มันพิสูจน์ความคิด แผนธุรกิจ ความสามารถของเรา ทีมงาน และร่วมไปถึง Passionในการทำผลงานของเราด้วย ที่สำคัญคำถามของคณะกรรมการแต่ละท่าน จะสะท้อนมุมมองความคิดของเรา และเป็นแนวทางในการพัฒนาผลงานในอนาคตได้ ผมเริ่ม Pitch โปรเจคแรกจากงานประกวดเพื่อค้นหา Product Champion ประเทศไทยในปี2017 ซึ่งเป็นงานของTCELS ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ตัวแทนรัฐบาลดำเนินการภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ นี่คือจุดเริ่มต้นการส่งโปรเจคเล็กๆของเรา เข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพสายวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ เราได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะในระดับประเทศ และได้รับงบประมานอีก 500,000บาท (เราใช้เงินก้อนนี้ในอีก 1 การทดสอบและสร้างความมั่นใจให้สารสกัดเราด้านการลดอาการอักเสบของสิว) นอกจากนั้น TCELS ยังส่งเราไป Pitch ในงาน Cosmetic 360 ที่กรุงปาริส ประเทศฝรั่งเศส จนเป็นเหตุให้เราได้พบบริษัทใหญ่อีก 1 บริษัทจากโซนยุโรป ที่อยู่ในช่วงการร่วมมือกันพัฒนายาจากสารธรรมชาติ(Botanical Drug)โอกาสของโปรเจคที่เราทำมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้การพัฒนาสารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุด ไม่ใช่สารสกัดเพื่อสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางรักษาสิวอย่างเดียวอีกต่อไป เรามีโอกาสได้ศึกษาผลงานวิจัยเชิงลึก ซึ่งปัจจุบันเราขยายสโคปการใช้ประโยชน์จากมังคุดเพื่อสินค้าในกลุ่ม สุขภาพและความงาม (Health & Beauty)ผมนำเสนอแนวคิดหลักในการทำงานต่อไปนี้กับนักวิจัยและทีมงานสตาร์ทอัพของพวกเรา
-
สร้างคุณค่าใหม่ให้กับของเหลือจากกระบวนแปรรูปธุรกิจเกษตร(Agribusiness)โดยเชื่อมโยงซัพพลายเชนข้ามอุตสาหกรรม เช่น โรงงานแปรรูปน้ำมังคุด เหลือเปลือกมังคุดจากกระบวนการ ก็สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสารสกัดผ่านงานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
- สร้างนวัตกรรมที่แตกต่างและเป็นงานวิจัยเชิงลึกที่มีมูลค่าสูง เป็น Deep Biotech เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantages) ให้กับธุรกิจของเรา
- สู่การพัฒนาสินค้าที่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อ(Emotional Product) คนบริโภคเพราะมีปัญหาหรือกลัวมีปัญหา เช่น กลัวแก่ กลัวไม่สวย กลัวป่วย หรือกลัวตาย
รวมผลงานและประสบการณ์ที่ทำสตาร์ทอัพ Deep Biotech ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
- รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในงาน Silicon Valley International Invention Festival 2018 รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- รางวัลชนะเลิศในการประกวด Life Science Mass Challenge 2018 ประเทศไทย
- รางวัลชนะเลิศในการประกวด Life Science Startup Thailand 2018 ประเทศไทย
- รางวัลชนะเลิศในงาน Bio Pitch & Partner, Thailand Lab Expo 2017 ประเทศไทย
- รางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์ประเทศ ประจำปี 2017 (Product Champion Thailand 2017) ประเทศไทย
ด้านการแสดงผลงานและการบรรยาย
- ตัวแทนประเทศไทยเพื่อแสดงผลงานในงาน Bio Korea ประจำปี 2018 กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
- ตัวแทนประเทศไทยเพื่อแสดงผลงานในงาน Echelon Asia Submit 2018 ประเทศสิงคโปร์
- บรรยายในงาน Asian Beauty 2018 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
- ตัวแทนประเทศไทยเพื่อแสดงผลงานในงาน Cosmetic360 ประจำปี 2017 กรุงปาริส ประเทศฝรั่งเศส
- ได้รับเชิญออกงานแสดงสินค้าในงาน Consulfarmaประจำปี 2017 กรุงเซาเปาโล ประเทศบราซิล
- บรรยายในงาน Beyond Beauty 2017 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
- บรรยายในงาน Asian Beauty 2017 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
- บรรยายในงาน Cosme Tokyo 2017 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
- ผ่านการแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้าความงามและเครื่องสำอางอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก
- ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ นักวิจัยที่ให้โอกาสเราในการร่วมงานวิจัยด้วย รวมถึง อดีตผอ.วารุณี ธนะแพสย์ และ ผอ.ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ สถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ช่วงต้นของการแสดงสินค้าในต่างประเทศ เราได้รับโอกาสจากDITP กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในโครงการ SME Proactive ช่วยให้เรามีโอกาสเจอคู่ค้าต่างประเทศหลายชาติ
- มีโอกาสได้เรียนในโครงการ YEN-D Season 1 โครงการของท่านอดุล โชตินิสากรณ์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และมีสัมมนาต่อเนื่อง ได้รู้จักหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดเป็นครั้งแรกในชีวิต เอาไปขอสิทธิพิเศษทางภาษี ตอนซื้อขายกับคู่ค้าในต่างประเทศ
- พี่ๆทีมงานและผู้บริหาร TCELS ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ให้พื้นที่สตาร์ทอัพอย่างเรา จนมีโอกาสเดินทางไป Pitchที่ฝรั่งเศส แสดงผลงานที่เกาหลี และในงาน Echelon Asia Summit 2018 งานใหญ่ที่สุดของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชีย
- รศ.ดร.ภก.เนติ วระนุช ผอ. สถาบันวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้แนวทางในการพัฒนาทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการยอมรับในตลาดต่างประเทศ
- ผอ. เสือ สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล และทีมงาน จาก สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ที่คัดเลือกเราไปประกวดในงาน Silicon Valley International Invention Festival 2018ในฐานะตัวแทนประเทศไทย
- ล่าสุดเราได้รับอีกโอกาสจาก ดร.พิมพ์พันธุ์ ศรีพิพิธ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเราไปแสดงสินค้าที่งาน China ASEAN Expo 2018 ที่หนานหนิง ประเทศจีนเร็วๆนี้