มาตรฐานฮาลาล: HALAL
มาตรฐานเพื่อการส่งเสริมธุรกิจและยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่ตลาดโลก
“ฮาลาล (HALAL)” เป็นคำมาจากภาษาอารบิก หมายความว่า การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา
“เครื่องหมายฮาลาล” เป็นเครื่องหมายที่คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่าง ๆ ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ได้การรับรองฮาลาลสามารถประทับ หรือแสดงเครื่องหมายลงบนสลาก, ผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใด ๆ ได้ โดยใช้สัญลักษณ์ที่เรียกว่า “ฮาลาล”
ปกติแล้วเมื่อพูดถึง”ฮาลาล” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่ว่าฮาลาลเป็นมาตรฐานสำหรับอาหารเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว มาตรฐานฮาลาลยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ยา อาหารเสริม เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานฮาลาลนี้ไม่เพียงแค่เข้มงวดในส่วนของวัตถุดิบ/ส่วนประกอบเท่านั้น แต่ยังเข้มงวดไปถึงอุปกรณ์ กระบวนการผลิต สถานที่ และการขนส่งอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่ทุกโรงงานผลิตจะสามารถผลิตและกล่าวว่าเป็นฮาลาลได้ เพราะการที่จะได้มาตรฐานรับรองว่าเป็นโรงงานผลิตภายใต้มาตรฐานฮาลาลนั้น จะต้องผ่านการดำเนินการตรวจสอบที่เข้มงวดในทุกขั้นตอนว่าถูกต้องตามหลักบัญญัติของศาสนาอิสลามหรือไม่ โดยการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลในประเทศไทยนั้น จะรับการตรวจสอบโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
สำหรับมาตรฐานฮาลาลในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามที่ทาง TIBD สามารถให้คำปรึกษาได้มีทั้งหมด 3 อุตสาหกรรม ดังนี้
HALAL Cosmetics: มาตรฐานฮาลาล กับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
เครื่องสำอางฮาลาลเป็นเครื่องสำอางที่ถูกผลิตจากวัตถุดิบฮาลาลภายใต้บัญญัติของมาตรฐานฮาลาล ก็คือจะต้องไม่มีส่วนประกอบจากหมู แอลกอฮอล์ ไขมันสัตว์ และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ต้องห้ามตามหลักการอิสลาม ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่จะมาจากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากธรรมชาติหรือแร่ธาตุ ทำให้มาตรฐานฮาลาลในสายตาของคนทั่วไปคือสัญลักษณ์แทนความสะอาดและปลอดภัย อีกทั้งเครื่องสำอางฮาลาลไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะให้ชาวมุสลิมใช้ได้เท่านั้น ผู้บริโภคทั่วไปก็สามารถใช้ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกระแสการใช้เครื่องสำอางจากธรรมชาติ และการรณรงค์การใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้ทำจากสัตว์หรือมีส่วนผสมของสัตว์มากขึ้น ทำให้ตลาดเครื่องสำอางฮาลาลมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เครื่องสำอางฮาลาลที่ได้มาตรฐานฮาลาลนั้นจะมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ฮาลาลติดอยู่บนฉลากเครื่องสำอางนั้น เพื่อเป็นการบอกว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นได้ถูกอนุญาติให้ใช้ได้ตามหลักศาสนาอิสลาม
Halal Food: มาตรฐานฮาลาลในอุตสาหกรรมอาหาร
“อาหารฮาลาล (HALAL FOOD)” เป็นอาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพตามศาสนบัญญัติของอิสลาม
ปัจจุบันอาหารฮาลาลในประเทศไทย เริ่มได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคอาหารฮาลาลไม่ได้มีเพียงแค่ชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ผู้บริโภคทั่วไปที่นับถือศาสนาอื่นก็สามารถบริโภคอาหารฮาลาลได้ด้วยเช่นกัน จากที่แต่เดิมเมื่อนึกถึง”อาหารฮาลาล” คนส่วนใหญ่นั้นจะนึกว่าเป็นอาหารที่ผลิตเพื่อมุสลิมและบริโภคในกลุ่มมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ส่งผลให้ขนาดตลาดของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายอาหารฮาลาลในปัจจุบันได้ขยายจากเดิมที่เป็นแค่ตลาดเฉพาะกลุ่มไปเป็นตลาดหลักที่มีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเป็นจำนวนมาก และด้วยกระแสของการรักสุขภาพที่มาแรง การทานอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญ มาตรฐานฮาลาลจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่น ว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองฮาลาลนั้นสะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
จากผลสำรวจที่รวบรวมโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2562 พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก โดยมีมูลค่าส่งออก 35,037 ล้านดอลล่าสหรัฐ คิดเป็น 2.44% ของมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลก ด้วยความที่ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้มีวัตถุดิบคุณภาพดีที่หลากหลายและปริมาณที่เพียงพอสำหรับการผลิต นอกจากนี้ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับตลาดอาหารของชาวมุสลิมในต่างประเทศ ด้วยจำนวนประชากรชาวมุสลิมมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีอุปสงค์อาหารฮาลาลมากขึ้น ดังนั้น ตลาดอาหารฮาลาลจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารที่อยากจะพัฒนาและต่อยอดการทำธุรกิจผลิตอาหารฮาลาลเพื่อส่งออกไปต่างประเทศก็ต้องยอมรับการตรวจสอบที่เข้มงวดตามข้อกำหนดศาสนาอิสลามจากทั้งภายในประเทศและประเทศคู่ค้ามากกว่าการขอรับรองมาตรฐานสากลทั่วไปด้วยเช่นกัน
ความแตกต่างระหว่างมาตรฐานฮาลาลกับมาตรฐานสากลอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร
มาตรฐานฮาลาลครอบคลุมกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นถึงสิ้นสุดตลอด “สายโซ่การผลิต” ของอุตสาหกรรมอาหารจะต้องเป็น “ฮาลาล” คือ ถูกต้องตาม บัญญัติศาสนาอิสลาม ปราศจาก “ฮารอม” คือสิ่งที่ต้องห้ามตามบัญญัติศาสนาอิสลาม เช่น วัตถุดิบ ส่วนประกอบ สารปรุงแต่ง สารพิษ สิ่งปนเปื้อนต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางอาหาร และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ (ตอยยิบ) ซึ่งระบบจัดการความปลอดภัยในอุตสาหกรรมอาหารสากลจะมีความแตกต่างจากมาตรฐานฮาลาล ทั้งระบบ GMP, HACCP และ มาตรฐาน ISO คือ มาตรฐานอาหารฮาลาลจะต้องยึดถือความถูกต้องและคุณค่าตามบัญญัติศาสนาอิสลาม เช่น ในกรณีของการเชือดเนื้อสัตว์ บัญญัติของศาสนาอิสลามระบุว่าผู้เชือดสัตว์ควรเป็นมุสลิม ห้ามกระทำทารุณกรรมสัตว์ก่อนเชือด เป็นต้น ส่วนมาตรฐานสากลยึดถือคุณค่าอาหารโดยไม่จําเป็นต้องถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
Halal Supplements: มาตรฐานฮาลาล ในอุตสาหกรรมอาหารเสริม
อาหารเสริมก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่สามารถเป็นฮาลาลได้ เนื่องจากการได้รับรองมาตรฐานฮาลาลนั้นไม่ใช่เพียงแค่เพื่อขายให้แก่ชาวมุสลิม แต่ยังเป็นการยืนยันในคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ไร้สิ่งปนเปื้อน และสารพิษ ในอาหารเสริมที่ผลิต อีกทั้งตลาดอาหารเสริมก็เป็นตลาดที่กำลังเติบโต ด้วยในปัจจุบันที่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุที่อยากจะดูแลสุขภาพเท่านั้น ผู้บริโภคในวัยอื่น ๆ ก็ได้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจึงเป็นที่ต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “อาหารเสริมฮาลาล” ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ เนื่องจากสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าชาวมุสลิมที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมากขึ้นทุกปี และศาสนาอิสลามก็เป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในโลก ความต้องการสินค้าในตลาดฮาลาลทั่วโลกจึงมากขึ้น ดังนั้น การทำตลาดอาหารเสริมฮาลาล นอกจากจะได้กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่รักสุขภาพแล้ว ยังเพิ่มโอกาสเข้าถึงตลาดใหญ่อย่างผู้บริโภคชาวมุสลิม และขยายโอกาสไปยังลูกค้าในต่างประเทศอีกด้วย
ประโยชน์ที่ได้รับเมื่อนำมาตรฐาน HALAL มาปรับใช้ในอุตสาหกรรม
-โอกาสในการทำตลาดฮาลาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ
-ผลิตภัณฑ์ได้รับการการันตีคุณภาพในการรับรองคุณภาพ ความสะอาดและความปลอดภัยตามมาตรฐานฮาลาล
-สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ทั้งชาวมุสลิมและผู้นับถือศาสนาอื่น
-สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ
ขั้นตอนการขอรับรองฮาลาล
- เตรียมการ
เป็นขั้นตอนเริ่มต้นของการเตรียมความพร้อมเพื่อเบื้องต้น ก่อนที่จะดำเนินการยื่นขอรับรอง ซึ่งในขั้นตอนนี้ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาในการจัดเตรียมความพร้อมและเอกสารต่างๆ
- ยื่นคำขอและพิจารณา
ขั้นตอนของการยื่นคำขอร้องและเอกสารต่างๆเพื่อดำเนินขอรับการรับรอง โดยไม่จำเป็นต้องยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) เท่านั้น หากในจังหวัดที่จัดตั้งโรงงานมีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) ก็สามารถดำเนินการติดต่อในจังหวัดได้เลย และเมื่อดำเนินการตรวจเอกสารเรียบร้อยแล้วจะมีการจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับตรวจสถานประกอบการ
- การตรวจสถานประกอบการ
คณะผู้ตรวจสอบดำเนินการตรวจสถานประกอบการ และให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขหากพบข้อบกพร่องหลังการตรวจสอบ
- พิจารณาผลการตรวจสอบและให้หนังสือรับรองฮาลาล
รอฟังผลการพิจารณาจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และหากได้รับการรับหนังสือรับรองฮาลาลแล้ว ก็ยังไม่สามารถนำเครื่องหมายฮาลาลไปติดบนผลิตภัณฑ์ได้ซึ่งจะต้องแจ้งความประสงค์ขอใช้เครื่องหมายและจ่ายธรรมเนียมด้วย
- ติดตามและประเมินผล
หลังจากที่ได้รับการรับรองแล้ว ทางสถานประกอบการจะต้องได้รับการติดตามผลอยู่เสมอจากผู้ตรวจการฮาลาลว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาและระเบียบอย่างเคร่งครัดหรือไม่ ในการตรวจสอบหลัก ๆ นั้นก็จะเป็นการตรวจสอบสินค้าในตลาด กับวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานปฏิบัติการณ์ของสถานประกอบการ
Our Service
สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, อาหาร และอาหารเสริม ที่สนใจอยากจะดำเนินการยื่นขอรับรองฮาลาลและต้องการผู้ช่วยให้คำปรึกษา ทาง TIBD มีบริการให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมการยื่นขอรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการจัดทำระบบมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามมาอย่างยาวนาน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 089-056-5651
Reference
เครื่องสำอางฮาลาล นิยมอย่างสูงในตลาดโลก
โอกาสเครื่องสำอางฮาลาลไทยในสเปน