ถอดบทสัมภาษณ์นักกลยุทธ์เรื่องความยั่งยืนในการเรียนการสอนของเด็กรุ่นใหม่
การมีเป้าหมาย (Goal) และแรงขับเคลื่อน (Passion)
ทำให้เราเกิดกระบวนการเรียนรู้ (Lesson Learn)
ที่ได้จากความผิดพลาด (Failure)
และการเรียนรู้ที่ดี คือการเรียนจากการตั้งคำถาม
ไม่ใช่การเรียนจากการรอคำตอบ
แล้วใช้อะไรในการวัดว่าการเรียนแบบการตั้งคำถามได้ผลกว่า
คำตอบก็คือ ระบบความคิดหรือชุดความคิด (Paradigm) ที่เปลี่ยนไป
การมองเรื่องเดิมแบบไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
สิ่งนี้จะทำให้ชุดความคิดของเราสามารถทำงานกับบริบท (Context)
ที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา และเข้าถึงความจริงได้เร็วมากขึ้น
ผมขอให้อาจารย์อธิบายความยั่งยืนในมุมมองของอาจารย์
อาจารย์เล่าให้ผมฟังว่า ความยั่งยืนของผมคือ ต้องสอนให้เด็กคิดเป็น อย่าเชื่ออาจารย์
อย่าเชื่อสิ่งที่อาจารย์พูด คุณไม่ต้องปฏิเสธ คุณไม่ต้องยอมรับ
คุณเอาไปคิดก่อน สอนให้เค้าคิด ไม่ใช่จำนะ
ทันทีที่เด็กคิดเป็น เค้าจะหาตัวเองเจอ
และเขาจะเรียนรู้จากความผิดพลาด (Failure) ได้
เพราะความผิดพลาด เป็นบันไดที่ทำให้เดินไปได้เรื่อย ๆ
มันจะไม่ใช่การผิดพลาดที่ไร้ความหมาย
แต่ตอนนี้มันเป็นความผิดพลาดที่ไร้ความหมาย
เพราะเขาไม่รู้อะไรเลย พอผิดพลาดมันก็ล้มเหลวเลย
แต่ถ้าคนที่มีเป้าหมาย มีแรงผลักดันในการทำอะไรบางอย่าง (Passion)
ทุกครั้งที่เขาล้ม มันเป็นการสร้างกำลังใจ
เขาเรียนรู้แล้วว่า บันไดขั้นที่ 1 ไม่ควรทำแบบนี้
เขาจะไม่ผิดพลาดซ้ำอีก เขาจะมีบทเรียน
บันไดขั้นที่ 2 ก็เดินต่อไปได้แบบมีเป้าหมาย
ความล้มเหลวทำให้เราแกร่งขึ้น การเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ดี
เด็กปัจจุบัน ไม่มีเรื่องนี้ เขาไม่มีเป้าหมาย
เวลาที่เขาพลาด เขาไม่รู้ว่าผิดพลาดยังไง
แต่ดันไปโกรธคนที่ทำให้มันผิดพลาดด้วยซ้ำ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันสอนคุณนะ
เหมือนคุณป่วย คุณมาหาหมอ คุณไปโมโหหมอ
แทนที่คุณจะไปรักษาตัว คือคุณผิดพลาด คุณต้องเรียนรู้สิ
แต่คุณจะเรียนรู้ก็ต่อเมื่อคุณมีเป้าหมาย มีแรงขับ (Passion)
ความล้มเหลวจะกลายเป็นความหมาย (Meaning) ของเรา
แต่ทันทีที่คุณไม่มีเรื่องนี้ ล้มก็คือคุณล้มเลย คุณไม่รู้อะไรเลย
ไม่มีนัยยะอะไร ก็ไม่รู้ว่าจะล้มเหลวทำไม
พอเรื่องนี้ไม่มี ความมานะ บากบั่น (Persistence) ก็ไม่มี
มันก็จะไม่มีอาชีพ เขาก็จะเป็นไปตามกระแสโลกไป
เด็กต้องมีชุดความคิด โดยระบบคิดของตัวเอง
ที่ไม่ถูกยัดเยียดโดยผู้นำ ผู้ใหญ่ ที่พยายามยัดเยียดบางอย่างให้
เรามีหน้าที่แค่ยื่นให้เค้า เค้าเป็นคนกินเอง ย่อยเอง
เราไม่ต้องยัดเยียดให้เค้ากินของที่เราชอบกินไปทุกวัน
อาจารย์บอกว่า “การเรียนที่ดี ควรเรียนจากคำถาม ไม่ใช่จากคำตอบ”
ไม่ใช่แค่เด็กนะแต่หมายถึงคนทั่วไปด้วย เมื่อได้คำตอบแล้ว เค้าจะหยุดหา
เพราะเค้าได้คำตอบแล้วนี่
แต่ถ้าคุณเรียนจากคำถาม
คุณจะไม่หยุดหา จนกว่าคุณจะได้คำตอบ
แต่ปัญหาของการถามคำถามที่ถูกต้อง มันไม่ง่าย
ปัญหาคือเมื่อถามไม่ถูกต้อง เขาก็จะยังไม่ได้คำตอบ
แต่มันก็จะมีการถามหลายมุมก่อนที่จะเจอคำตอบ
ทีนี้เรื่องที่มันซับซ้อน ลึกซึ้ง มีความเชื่อมโยงสูง มันก็ต้องมีหลายคำถาม
คนที่หาคำถามได้ก่อน ก็จะเจอคำตอบไวกว่าคนที่มัวให้อาจารย์บอกคำตอบมา
ซึ่งการศึกษาระบบนี้ มันเป็นแบบนี้มานานแล้วนะ
เด็กมานั่งรออาจารย์บอกคำตอบแล้วไปสอบ แล้วจบ ไม่มีความหมายอะไร
เป็นพวกนกแก้ว นกขุนทอง พวกนักแปลอะไรตรงๆ
พูดตามอาจารย์ อาจารย์พูดอะไรคุณกดปุ่มพูดตาม
กลายเป็นว่าไม่มีการวิเคราะห์หรือตีความแบบ Interpretation
ตีความของตัวเองไม่ได้ หาความหมายความสำคัญของตัวเองไม่เจอ
เราจึงถามว่าอะไรคือเหตุผลที่อาจารย์ทำสิ่งที่มันฉีก มันต่างจากสิ่งที่เค้าทำกันมา
อาจารย์จึงอธิบายว่า ตามรูปแบบการเรียนการสอนดั้งเดิม แบบท่องจำ
การรอให้อาจารย์บอกข้อมูล รวมไปถึงการบอกแนวทางเรื่องการสอบ
ผมเห็นวันนี้คนที่เรียนจบมา ก็ไม่ต่างจากคนที่ไม่เรียนหนังสือ
ถ้าถามว่าวัดกันอย่างไร คุณลองเทียบ 2 คน เวลาไปเจอปัญหา
คุณเรียนหนังสือมา คุณไม่มีวิธีการแก้ปัญหา (Solution) เลยเหรอ
ถ้าคุณไม่มีทางแก้ (Solution) กับปัญหาที่เจอในงาน แล้วคุณไปเรียนอะไรมา
คุณคำนวณได้ แต่คุณอ่านข้อมูลทางการเงินไม่เป็น
คุณไม่มีความรู้ทักษะทางการเงิน (Financial Literacy)
คุณมีเงินเดือนสูง แต่คุณถังแตก (Broke) เลย ความรู้คุณอยู่ที่ไหน
มันเลยกลับมาตอบเลยว่า.. สิ่งที่เรียนมานี่ จำมาอย่างเดียวเลยนี่หว่า
เขาไม่ได้ถามตามหนังสือ ตอบไม่ได้แล้ว ประยุกต์ใช้ยังไม่เป็น
เทียบกับเด็กอีกคนนึง ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้เรียนหนังสือนะ
แต่เขาเจอปัญหาทุกวันๆ หาทางแก้ไขปัญหาในหลายๆทาง
เราเลยมีคำที่ว่า…
รู้จักคำว่า Street Smart (มวยวัด) กับ Book Smart (ทฤษฎีจ๋า) มั้ย
กลุ่ม Street Smart เขาอาจจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เขาอยู่ในงานทุกวันๆ …เขาจะแกร่ง
แต่ประเด็นปัญหาของคนเหล่านี้คือเขาไม่มีระบบ
เวลาเขาจะโตขึ้น เขาโตไม่ได้ เพราะเขาคิดไม่เป็นระบบ ทำได้แค่เอาตัวรอดไปวันๆ
ส่วนกลุ่ม Book Smart เนี่ย เขาเอาตัวรอดแบบ Street Smart ไม่ได้
แต่เขามีความคิดที่เป็นระบบกว่า ปัญหาคือถ้าเขาไปจำมาจากหนังสือ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน
เขาจะไม่มีทางออก เวลาเจอปัญหาที่แตกต่างจากสิ่งที่เรียนในหนังสือมา
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าระบบการศึกษานี้
มันเป็นระบบอุตสาหกรรมที่สอนให้คนเป็นลูกจ้างเค้า
อย่าคิดต่าง ถ้าคุณแตกต่างคุณจะมีปัญหา
อย่างนี้สอนให้คนเป็นขี้ข้าเค้า เป็นลูกจ้างเค้า
แล้วในหลายเรื่องจากต่างชาติก็ไม่สามารถใช้ที่ไทยนะ
แต่เราไปจำ ไปคิดว่าต่างชาติคิดถูกหมดเลยแล้วเราก็เอามาใช้ตรง ๆ
อย่างตัววัดเนี่ยชัดเจนเลย ทำไมมันประสบความสำเร็จในต่างประเทศ
แต่พอมาเมืองไทย ยิ่งวัดยิ่งแตกแยก วัดแล้วยิ่งงง
วัดเยอะไปหมดเลย วัดจนไม่มีเวลาทำงาน
เป็นระบบที่ทำไมที่โน่นสำเร็จ ทำไมมาที่นี่ใช้ไม่ได้วะ
แล้วเราทำอะไรอยู่ เรายังจะไปเรียนอย่างนี้อยู่อีกเหรอ
ก็ไม่ใช่ว่าของเค้าไม่ดี แค่เราหาความหมายไม่เจอ ไม่มีระบบคิดของตัวเอง
ไปเลียนแบบเขามา ประยุกต์ไม่เป็น ไม่เหมาะกับบริบทที่เกิดขึ้น
คือผมไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดเหล่านี้ แต่ว่าแบบนี้คือมันคิดไม่เป็น
ผลกระทบจากการสอน ทำสิ่งที่แตกต่าง ไม่เหมือนกันคนอื่น
มีเยอะเลย มีอาการแพ้ยาในเด็ก
เด็กมันไม่เคยไง แต่ผมว่าเด็กหลายคนตื่นนะ
ถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์ 100% มากกว่า 50% ที่ตื่นขึ้นมา
และพยายามจะออกจากความเคยชินเดิม
ผมว่าแค่นี้ผมพอใจแล้ว
วัดจากอะไร วัดจากวิธีคิด ชุดความคิด
เขามองเรื่องเดิม ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
มันจะเป็นจุดที่ทำให้เขาต่อยอดได้ไม่รู้ที่สิ้นสุด
เด็กพวกนี้ไม่มีวันล้าสมัยนะ
ต่อให้คอนเทนท์มันเปลี่ยนหรือระบบมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
ระบบคิดของเขาจะเข้าไปทำงานกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
กับเด็กที่ปฏิเสธเรื่องการปรับเปลี่ยน ยังชอบอยู่ในวังวนเดิม
พวกนี้จะล้าสมัยเร็ว เพราะว่าเมื่อเวลาเปลี่ยน
เขามีแค่ชุดความคิดเดียว คือความจำที่เรียนมา
พอบริบทเปลี่ยน ความจำที่มีปรับไปใช้ไม่ได้
เขาก็ไปต่อไม่ได้ เขาจะเป็นคนตกยุคเร็ว
เหมือนอาจารย์ก็เหมือนกัน อาจารย์ที่ไปเรียนหนังสือแบบจำมา
ตอนนี้เชื่อมโยงกับธุรกิจไม่ได้เพราะอะไร เพราะเขาไม่มีชุดความคิด
ไม่ใช่เขาไม่มีความรู้นะ เขามีความรู้แบบความจำ มันล้าสมัยไปนานแล้ว
โดยสรุปอาจารย์กล่าวถึง Paradigm คือระบบคิด ชุดความคิด ที่อยู่ในตัวเรา
ซึ่งมันทำงานกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
พวกนี้จะไม่เคยตกเทรนด์เลย แถมจะทำให้เข้าใจความจริงได้เร็วกว่าด้วยซ้ำไป
.
ดร. นันธวุฒิ ลีอมรสิริ
รองคณบดีฝ่ายนโยบายและบริหารการเปลี่ยนแปลง คณะอุตสาหกรรมเกษตร บางเขน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียงโดย
นายวุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร
สามารถอ่านบทความ ถอดบทสัมภาษณ์นักกลยุทธ์เรื่องความยั่งยืนในการเรียนการสอนของเด็กรุ่นใหม่ หรือบทความอื่นๆได้ที่นี่