บทบาท Big data ในธุรกิจความงาม

Big data ในธุรกิจความงาม

บทบาท Big data ในธุรกิจความงาม

ในปัจจุบันธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล จนทำให้คำว่า Big data เป็น Trend ที่มาแรงมีคนให้ความสนใจอย่างมาก  เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้ยินคำว่า Big data มาบ้างแล้ว แต่เคยสงสัยไหมว่าคืออะไร ทำหน้าที่อะไร

Big data คืออะไร?

         Big data คือ คำนิยามของข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ทุกชนิดที่อยู่ในองค์กร ตั้งแต่ ข้อมูลบริษัท, ข้อมูลลูกค้า, ข้อมูลคู่ค้า, พฤติกรรมผู้บริโภค, ไฟล์เอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมไปถึง รูปภาพ URLs ลิงค์ต่างๆที่คุณเก็บไว้ ฯลฯ ที่มีปริมาณมากจนกระทั่งซอฟต์แวร์ปกติทั่วไปไม่สามารถรองรับการเก็บข้อมูลหรือประมวลผลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรืออาจกล่าวได้ว่า Big data คือ เทคโนโลยีหรือ Platform รุ่นใหม่ ซึ่งในรูปแบบซอฟต์แวร์ที่สามารถรองรับการจัดเก็บ การจัดการ กรองเลือกข้อมูล การวิเคราะห์ แสดงผล และการใช้งานข้อมูลที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีปริมาณมาก (volume) เป็นได้ทั้งรูปแบบ online และ offline ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีปริมาณมากกว่าหน่วย TB (terabyte) ขึ้นไป
  • มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (velocity) ส่งผ่านข้อมูล update กันอย่างต่อเนื่อง real-time) จนทำให้การวิเคราะห์ง่ายๆจับรูปแบบหรือทิศทางของข้อมูลไม่ได้
  • หลากหลายประเภทหรือแหล่งที่มา (variety) มีรูปแบบข้อมูลที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร วิดีโอ รูปภาพ ไฟล์ต่างๆ ฯลฯ และหลากหลายแหล่งที่มา เช่น social network หรือแพลตฟอร์ม E- commerce ต่างๆ

Big Data ช่วยให้ใช้ข้อมูลจากทุกแหล่งที่เป็นไปได้ และวิเคราะห์ให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งทำให้เข้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาดำเนินการ และยังช่วยให้ตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น แล้ว Big Data จะเข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมความงามที่ได้ชื่อว่ามีการแข่งขันที่สูงมากได้อย่างไร 

Big Data กับธุรกิจความงาม

         ในการทำการตลาดและการทำโฆษณานั้น ต้องทำการรวบรวมข้อมูลจากหลายที่มา ตั้งแต่การสังเกตความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์, ตรวจสอบ ณ จุดขาย และข้อมูลเบื้องต้นของลูกค้า การนำข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้มาวิเคราะห์เป็นวิธีที่แบรนด์และเอเจนซี่โฆษณาใช้ในการทำงานเพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ โดยนำมาซึ่งการบรรลุเป้าหมายในการทำแคมเปญการตลาดที่ตอบโจทย์ลูกค้า 

         อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้อาจยังไม่เพียงพอ แบรนด์และเอเจนซี่โฆษณาต่างมองหาข้อมูลที่ลงลึกไปกว่านั้นหรือที่เรียกว่า “ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าแบบ Hyper-Personal Data” เพราะข้อมูลประเภทนี้จะช่วยให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น โดยวิเคราะห์จากข้อมูลทั่วไปหรือปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ เช่น การเป็นรอยสิวหรือมีปัญหารังแค ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ลูกค้าไม่มีทางโพสต์ลงโลกออนไลน์แน่นอน แต่ข้อมูลเหล่านี้กลับเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์  และยิ่งแบรนด์มีจำนวนลูกค้ามากเท่าไหร่ ข้อมูลที่ต้องรวบรวมก็ยิ่งเยอะตามไปด้วย

         ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าแบบ Hyper-Personal Data จะทำให้ได้แคมเปญการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและมีความเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น  ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์สามารถประหยัดเงินและมั่นใจในประสิทธิภาพของแคมเปญได้ เนื่องจากได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงบวกกับสินค้าที่เหมาะสมไว้แล้ว ทุกวันนี้แบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำระดับโลกไม่ว่าจะเป็น L’Oréal, Unilever, Interpublic Group และ Weleda ต่างหันมาใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบนี้มาช่วยในการทำการตลาดทั้งสิ้น

Startup ที่นำ Big data มาใช้ในอุตสาหกรรรมความงาม

         Poshly ก่อตั้งเมื่อปี 2012 ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสตาร์ทอัพที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความสวยความงามของผู้บริโภคโดยเฉพาะมาใช้เป็นโมเดลธุรกิจ   Poshly เก็บข้อมูลผู้บริโภคโดยให้พวกเขาตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความงามส่วนบุคคล และจะมีโอกาสได้รับผลิตภัณฑ์บิวตี้เป็นการแลกเปลี่ยน   Poshly ไม่เพียงรวบรวมข้อมูลสถิติทางประชากร, ประเภทผิวหรือผมเท่านั้น แต่ยังเก็บข้อมูลอย่างละเอียดในเรื่องการดูแลเรื่องสวยๆงามๆประจำวัน ปัญหาที่กังวล และผลิตภัณฑ์ที่ชื่นชอบผ่านแบบสำรวจสั้นๆ เว็บไซต์มี active users กว่า 400,000 คน ที่มาตอบคำถาม  เว็บไซต์อ้างว่าจำนวนผู้ใช้ครอบคลุมประชากรหลายมิติสามารถใช้แทนสำมะโนครัวประชากรสหรัฐอเมริกาได้ 

         Poshly สร้างรายได้จากการขายข้อมูลของผู้บริโภคให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า นอกจากนี้แบรนด์ยังสามารถสร้างแคมเปญบนเว็บไซต์ Poshly ได้ โดยสร้างแบบสอบถามที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดและการสร้างผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย  หากมองในมุมของแบรนด์แล้วการซื้อข้อมูลจาก Poshly มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าทางแบรนด์ไปจ้างเอเจนซี่ทำการวิจัยเอง  นอกจากแบรนด์บิวตี้จะเป็นลูกค้าหลักของ Poshly แล้วนิตยสารความงามหัวต่างๆก็เป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน  โดย Poshly จะให้แบบสอบถามไปผูกในเว็บไซต์ของนิตยสาร  ทำให้นิตยสารเข้าใจความต้องการและความสนใจกลุ่มผู้อ่านตัวเองดียิ่งขึ้นอีกด้วย 

         จะเห็นได้ว่า ในอนาคตแบรนด์เครื่องสำอางและความงาม จะยิ่งมีการเจาะข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าแบบจำเพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยข้อมูลส่วนตัวเพื่อเข้าถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการก่อนจะนำเสนอขายสินค้านั้น เป็นการใช้ Power of Data ในการเข้าถึงลูกค้าแบบรายบุคคลนั้นเอง

สามารถอ่านบทความ บทบาท Big data ในธุรกิจความงาม หรืออื่นๆได้ที่นี่

ข้อมูลอ้างอิง

http://bigdataexperience.org/big-data-in-beauty-industry/

https://www.tereb.in.th/erp/big-data-คือ/

https://digital.hbs.edu/platform-digit/submission/poshly-helping-beauty-brands-understand-their-consumers/

author-avatar
  
สินีนาฏ เพิ่มสวัสดิ์

มาร์เก็ตติ้งในธุรกิจความงามของบริษัทต่างประเทศชั้นนำกว่า 10 ปี เชี่ยวชาญการทำการตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและเส้นผมโดยเฉพาะ